Home

.

.

ประวัติศาสตร์


 
ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓

ความเป็นมาของลายรดน้ำ

    คำว่า “ลายรดน้ำ” มาจากขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างสรรค์งานศิลปะเเขนงนี้ ด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรดปรากฎออกมาเป็นลวดลายรูปภาพ ลายรดน้ำจัดเป็นจิตรกรรมเอกรงค์ประเภทหนึ่ง เป็นการสร้างลวดลายประกอบร่วมกับรูปภาพให้ปรากฏเห็นเป็นสีทองเพียงสีเดียว ด้วยแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำหรือสีเเดง (รักผสมชาด) เเสดงรูปออกมาเป็นเเบบสองมิติ องค์ประกอบของภาพเรื่องราวเเละลวดลายที่ปรากฎมีหลายลักษณะ ล้วนมีที่มาเเละเเรงบันดาลใจที่ได้มาจากธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม มาเป็นเเนวทางการสร้างสรรค์ลวดลาย คือ คน สัตว์ สถาปัตยกรรม ผสมผสานกับภาพธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ พันธุ์พฤษา จัดวางกระจายเต็มทั่วพื้นที่ เรื่องราวที่เขียนส่วนมากนำมาจากวรรณคดีที่พบมากที่สุดคือ เรื่องรามเกียรต์ และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ได้เเก่ ชาดกเเละพุทธประวัติ หรือ ไม่เขียนเป็นเรื่องราวหากมีเพียงภาพบุคคลหรือภาพสัตว์ในวรรณคดีและที่มีจริงในธรรมชาติ ประกอบอยู่ในลวดลายกระหนก ภาพเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นคุณลักษณะความเป็นรูปเเบบไทยโดยเเท้จริงที่เรียกว่า “ศิลปะเเบบไทยประเพณี”

    ลายรดน้ำได้ใช้เป็นศิลปะสำหรับตกเเต่งสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ เเต่ก็มีบ้างที่ทำบนโลหะ หนังหรือไม้ไผ่สาน เป็นต้น มีทั้งภาชนะขนาดเล็ก เช่น ไม้ประกับคัมภีร์ หีบสวด ตะลุ่ม พานเเว่นฟ้า ฆ้อง ไม้พาย และขนาดใหญ่ เช่น หีบ ตั่ง ตู้พระธรรม สัปคับ ลับเเล และยังมีการทำลายรดนำ้เพื่อตกเเต่งส่วนประกอบของอาคาร เช่น บานประตู หน้าต่าง ตลอดจนฝาผนังอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางด้านที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังมีไม่น้อยที่เกิดจากการสร้างสรรค์ในระดับชาวบ้าน

    ลายรดน้ำเป็นงานปราณีตศิลป์ของไทยอย่างหนึ่งซึ่งมีรูปแบบกระบวนการกรรมวิธีทำสืบเนื่องต่อมาจากอดีต จัดอยู่ในงานช่างรัก อันเป็นหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจำราชสำนักที่เรียกกันว่า ช่างสิปหมู่ ลายรดน้ำนับว่าเป็นสัมฤทธิผลขั้นสุดท้ายของงาน ช่างรัก ศิลปะเเขนงนี้น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ดังปรากฎหลักฐานใน “พระไอยการตำเเหน่งนาทหารหัวเมือง” ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวถึงศักดินาของข้าราชกาล “กรมช่างรัก” ในหมวดช่างสิบหมู่ว่า

ขุนสุวรรณ์ราชา  เจ้ากรมซ้าย    นา      ๓๐๐
ขุนสุวรรณนิมิต  ปลัดกรม       นา      ๒๐๐
ช่างเลว                      นาคล   ๕๐
ช่างรัก
ขุนสุวรรณสิทธิ  เจ้ากรมขวา     นา      ๓๐๐
หมื่นสุวรรณสาคร  ปลัด         นา      ๒๐๐
ช่างเลว                       นาคล   ๕๐

    หลักฐานดังกล่าวแสดงว่าศิลปะ ลายรดน้ำ หรือ ช่างรัก มีความสำคัญมาเเต่สมัยอยุธยาตอนต้นเท่าที่พบพอเป็นหลักฐานมีเพียงข้อความจาก ข้อกำหนดมณเฑียรบาล ซึ่งกล่าวถึงเครื่องอุปโภคไว้ตอนหนึ่งว่า “กลด ต่อค้ำประดับมุกใบทาชาดเขียนลายทอง” แต่เนื่องจากไม่ปรากฎหลักฐานงานช่างฝีมือดังกล่าวตกทอดมาจนถึงปัจุบันทำ ให้ไม่อาจทราบได้ว่ารูปแบบของลายรดน้ำครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่โดยส่วนใหญ่ที่ปรากฏหลงเหลืออยู่จะมีอายุการสร้างไม่เกินช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ โดยเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะลายรดน้ำของไทยเจริญขึ้นสูงสุด 

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย  สกุลช่างวัดเซิงหวาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓

สมัยอยุธยา

    สมัยอยุธยามีการแบ่งองค์ประกอบภาพหรือการออกลายตามความพอใจของช่าง มิได้มีกฏหรือแบบแผน มีอิสระในการออกลายอย่างเต็มที่ ลักษณะของลายกระหนกเป็นไปในแบบอิสระ จังหวะเเละรายละเอียดไม่ซ้ำแบบกันเเม้จะอยู่ในโครงสร้างของลายลักษณะเดียวกัน ช่อของลายกระหนกมีขนาดใหญ่แต่มีรายละเอียดเเทรกงดงามไม่ซ้ำกัน เส้นอ่อนไหวพริ้วสะบัดปลายเเหลมตวัดปลายขึ้นพองามได้สัดส่วนอารมณ์คล้ายเปลวเพลิง มีความคมและอ่อนหวานแตกเถาระยิบระยับเคลื่อนไหวมากพริ้วสู่เบื้องบนอย่างมีอิสระ

 รายละเอียด ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สกุลช่างวัดเซิงหวาย 

    ตู้ลายรดน้ำที่งามเป็นเอกนั้นอยู่ในสมัยอยุธยาเรียกกันว่า ฝีมือสกุลช่างวัดเซิงหวาย ตกแต่งด้วยลายกระหนกเปลวทุกช่อเคล้าภาพ นก กระรอก ลิง ราชสีห์ นรสิงห์ กินนร กินรี ซึ่งอยู่ในอิริยาบถที่เคลื่อนไหวต่างๆกัน มีความเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวา ท่าทางของกระรอกบ้างก็เผ่นโผนเกาะเกี่ยวกิ่งกระหนก บ้างก็เหลือบแลชะแง้ดูเพื่อนที่อยู่ข้างหลัง ศิลปินผู้สร้างถ่ายทอดอารมณ์สนุกสนานมิใช่น้อย การพิจารณาดูส่วนละเอียดยิ่งเพ่งพิศนานเท่าไรก็จะเห็นส่วนปลีกย่อยที่ศิลปินได้ผสมผสานกันไว้อย่างน่าดูน่าชมยิ่ง

ทวารบาล ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓

    องค์ประกอบภาพแบบหนึ่งที่นิยมคือ ภาพจับ เป็นภาพจับของบุคคลตามท้องเรื่องรามเกียรติ์เช่น พระรามรบกับทศกัณฐ์ ภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ เช่น ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ภาพเรื่องทศชาติชาดก หรือชาดกต่างๆอันหมายถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า มีความสามารถในการเขียนภาพเล่าเรื่องด้วยวิธีการอันชาญฉลาดในการเขียนภาพบุคคลจำนวนมากมายบรรจุอยู่ในเฉพาะกรอบของพื้นที่จำกัด โดยเลือกเขียนเฉพาะตอนที่สำคัญของเนื้อเรื่องเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพเขียน ตู้ลายรดน้ำอีกแบบหนึ่งเขียนเป็นภาพบุคคลยืนโดดเดี่ยวเกือบเต็มพื้นที่ เช่น เสี้ยวกาง ภาพเทวดาทวารบาล ประกอบด้วย ลิงแบก ยักษ์แบก หรือภาพเทวดาทรงพระขรรค์ประทับยืนบนบัลลังก์

หีบพระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓

    การตกแต่งตู้นอกจากจะตกแต่ง ด้านหน้า และด้านข้าง ซ้าย ขวาแล้วบางตู้ได้ตกแต่งด้านหลังของตู้ด้วยภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ภาพสัตว์และพันธุ์ไม้ในป่าหิมพานต์เช่น ต้นนารีผล คนธรรพ์ ฤษี นักสิทธิ์ วิทยาธร  ภาพปลงอสุภกรรมฐาน ภาพเล่าเรื่องเหล่านี้มีพื้นหลังลงรักดำทึบไม่นิยมตกแต่งตัวกนกเสริมส่วนที่ว่างเหมือนด้านหน้า
ลวดลายที่ใช้ตกแต่งหีบพระธรรม หีบหนังสือสวด หีบหนังสือเทศน์ นิยมเขียนลายรดน้ำบนพื้นหลังที่ลงรักดำและรักแดงนิยมใช้ลายกนกเถาลายกนกเปลวเคล้าภาพต่างๆเช่น กินนร ราชสีห์ คชสิงห์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีลายพันธุ์พฤกษา ลายดอกไม้ดอกที่ต่างชนิดกันไปและตกแต่งลวดลายบนตัวหีบทั้ง ๔ ด้านรวมทั้งฝาหีบด้วย 

ทวารบาล ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยธนบุรี ตู้หมายเลข กท.๕๘ พ.ศ. ๒๓๒๔

สมัยธนบุรี

    ในสมัยธนบุรีเป็นช่วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยวสืบเนื่องของอิทธิพลช่างฝีมือสมัยอยุธยา อาจจะเป็นช่างที่ในสมัยอยุธยามีอายุสืบต่อมา ฝีมือการเขียนลายในสมัยธนบุรีละม้ายคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยามาก แม้จะด้อยฝีมือเพียงเล็กน้อยก็ตาม ลายในสมัยธนบุรีลายกระหนกตัวลายเหยียดออกเล็กน้อย ปลายกนกพุ่งขึ้นสู่เบื้องบน เปลวกระหนกแตกเถาน้อยกว่าสมัยอยุธยา

ตู้หมายเลข กท.๕๘ ด้านในบานประตูซ้ายมีอักษรจารึกเขียนว่า  “สร้างเมื่อพุทธศักราชล่วงเเล้ว ๒๓๒๔ วสา เศษสังขยาเจ็ดเดือนกับสิบสามวัน ปัจจุบัน ๖ + ๑ ค่ำ ๑๔ “  ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ ๒

สมัยรัตนโกสินทร์

    สมัยรัตนโกสินทร์ จะเเบ่งออกได้เป็น ๒ ช่วงเวลา คือ ระยะแรกเริ่มตั้งเเต่สมัยรัชกกาลที่ ๑ ไปจนถึงรัชกาลที่ ๓ และช่วงที่สองเริ่มตั้งเเต่รัชกาลที่ ๔ จนกระทั่งถึงปัจุบัน

    ช่วงระยะเเรกเป้นผลงานที่สร้างขึ้นระหว่างที่มีการฟื้นฟูพระนคร โดยยังคงยึดรูปเเบบเเละกรรมวิธีดั้งเดิมที่มีมาเเต่สมัยอยุธยา ลายกระหนกออกเเบบให้แตกเถาน้อยกว่าสมัยอยุธยา เหมือนถูกบังคับให้อยู่ในกรอบจึงทำให้ดูค่อนข้างขาดความเป็นอิสระ และอารมณ์ของลายเส้นดูค่อนข้างจะนิ่งไม่เคลื่อนไหว กระหนกสมัยรัตนโกสินทร์รูปทรงดูเล็กและสั้นอ้วนและป้อม ช่องว่างระหว่างตัวกนกมีความถี่มาก ทำให้แน่นเหมือนกับว่าเส้นกนกอยู่ในกรอบคล้ายๆกับเป็นแผง นิยมทำเถาของกนกจากขอบล่างของตู้พุ่งเถากนกขึ้นไปจรดหรือเกือบจรดขอบบนของตู้ ด้านซ้ายและขวาการออกแบบเถาอยู่ในรูปแบบเดียวกัน ก็เป็นความงามอีกลักษณะหนึ่งของลายในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะยึดเอาแบบของสมัยอยุธยาเป็นแบบครูแต่กำหนดกรอบให้มีแบบแผนมากขึ้น

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ ๓

    ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับอิทธิพลศิลปะจีนเข้ามาผสมผสาน ทำให้คุณค่าเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวลดลงไป หากเเต่ส่วนใหญ่โดยรวมก็ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนเเปลงไปมากนัก ลวดลายที่ใช้ตกแต่งนั้นใช้ลวดลายพันธุ์พกฤษา ลายดอกพุดตานเเบบจีนตกเเต่งพื้นที่เเทน ผสมผสานภาพคนและสัตว์ได้อย่างกลมกลืน ลวดลายธรรมชาตินี้ได้เปลี่ยนเเปลงไปในทางเล่าเรื่อง เเละใช้ภาพชาดกตามประเพณีนิยมมากขึ้น

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ ๔


    ระยะที่สอง เริ่มตั้งเเต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ศิลปะไทยส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนเเปลงรูปแบบไปตามอิทธิพลตะวันตกซึ่งเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลานี้ ศิลปะลายรดน้ำเนื้อหายังคงคติดั่งเดิมแต่รูปแบบมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยผสมรุปแบบการเเสดงภาพทัศนวิสัยมุมมองเเบบแบบตะวันตกเข้ามาเพิ่มเติม ภาพบุคลท่วงท่าดูกระด้างไม่เเสดงความรู้สึกเคลื่อนไหวขาดชีวิตชีวา ทำให้ขาดคุณลักษณะเฉพาะของศิลปะไทยไป 

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ ๕

อ้างอิง

ศิลปากรม,กรม.  ความรู้ทั่วไปในงานศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๔๕
ศิลปากรม,กรม.  ชาดกเเละพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๔๙.
นางสาว ก่องเเก้ว วีรประจักษ์, นางสาว นิยดา ทาสุคนธ์. ตู้ไทยโบราณ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๒๑.
จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. จิตรกรรมแบบไทยประเพณี. เอกสารทางวิชาการ, ๒๕๓๖


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

.

.

.