Home

.

.

วัสดุ



วัสดุการสร้างสรรค์ลายรดน้ำ

    ลักษณะพิเศษที่สําคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งถือเป็นหัวใจของการสร้างงานประเภทลายรดน้ําก็คือ ตัวช่างหรือศิลปินผู้สร้างงานจะต้องทําด้วยใจรักในงานประเภทนี้ มีความสามารถสร้างงานด้วยความประณีตละเอียดรอบคอบ ประกอบกับมีทักษะด้านฝีมือเป็นสําคัญ รวมทั้งต้องมีความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับ ลวดลายตลอดจนลายแม่บทต่างๆ ของศิลปะไทยเป็นอย่างดี เเละองค์ประกอบสําคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้ผลและมีประสิทธิภาพคือ วัสดุ ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปฏิบัติงาน วัสดุที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ ยางรักหรือรักน้ำเกลี้ยง น้ำยาหรดานและทองคำเปลว

ยางรัก (Lacquer)

ยางรัก (Lacquer)
   
   ยางรัก คือ ยางไม้ที่ได้จากตันรักเป็นต้นไม้กลุ่มหนึ่งของพรรณไม้วงศ์มะม่วง (Anacardiaceae) สามารถผลิตยางรักและมนุษย์นำไปใช้ประโยชน์อยู่ ๔ ชนิดใน ๒ สกุล คือ สกุลรักจีน (Rhus) และสกุลรักใหญ่ (Gluta รวมทั้งชื่อพ้องสกุลนี้คือ Melanorrhea) รักจีน (หรือ รักญี่ปุ่น)(Rhus verniciflua) แกนมอ (R.succedanea) รักใหญ่ (Gluta usitata) และรักน้ำเกลี้ยง (G.laccifera) โดยทั่วไปพบพรรณไม้กล่มนี้มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในการทำหัตถกรรมเครื่องรัก ต้องใช้ยางจากพันธุ์ไม้รักเป็นวัตถุดิบ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปรากฎสืบทอดยาวนานตั้งเเต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในขบวนการประดิษฐ์เครื่องรักมาเคลือบทาบนผิววัสดุ ชาวจีนได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์มากว่า ๗,๐๐๐ ปี สำหรับในประเทศไทยการค้นพบเเหล่งโบราณคดี ปรากฎการใช้เครื่องรักและโลงรักมีอายุช่วง ๒,๖๐๐-๑,๑๐๐ ปี ยางรักถูกนำมาใช้ในงานศิลปะไทยเกือบทุกแขนง เช่น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ปราณีตศิลป์เเละหัตถกรรม สะท้อนคติความเชื่อทางศาสนาที่ปรากฏใช้ในพิธีกรรม

    ในประเทศไทยพบหลักฐาน การลงรักปิดทอง มีมาตั้งเเต่สมัยทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ งานช่างรักของไทยทำได้หลายลักษณะ เช่น ลายรดน้ำ ประดับมุก ประดับกระจก ให้มีความสวยงามและความคงทนมีวิธีการเเละรายละเอียดที่เเตกต่างกัน 

    ช่างไทยใช้ยางรักส่วนใหญ่มาจากต้นรักใหญ่ รวมทั้งยางรักน้ำเกลี้ยงที่ใช้ปะปนกัน โดยเข้าใจผิดว่าทั้งหมดว่าเป็นยางที่ได้จากต้นรักใหญ่อย่างเดียว ต้นรักใหญ่มีอยู่มากทางภาคเหนือของประเทศ เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เเพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก โดยมีปริมาณมากน้อยต่างกัน

    ลักษณะของยางรักเมื่อเจาะหรือกรีดที่ลำต้นเพื่อให้ยางใหลออกมามีลักษณะเป็นยางเหนียว เมื่อแรกกรีดออกมาจากต้นเป็นสีเหลืองนวลข้นคล้ายนม ภายหลังเมื่อถูกแสงเเดดและอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเเละเข้มขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นสีดำ สามารถคงสถานะของเหลวใช้ได้เป็นเวลานานหากเก็บไว้ในสภาพที่มิดชิด โดยไม่ถูกอากาศและความร้อนจากแสงเเดด ยางรักจากต้นรักใหญ่มีคุณสมบัติพิเศษที่เหนือกว่าสีเคลือบเงาและยางไม้ทุกชนิด คงทนต่อสภาพภูมิอากาศใช้ได้ทั้งในที่ร่มและที่แจ้ง มีเนื้อรักแท้ถึง ๘๗% มากกว่ารักชนิดอื่นๆ เมื่อเเห้งสนิทตามธรรมชาติจะเเข็งตัวยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้เป็นตัวเคลือบผิววัสดุเหมาะสำหรับทารองพื้น และสำหรับเช็ดเพื่อปิดทองคำเปลว

    รักน้ำเกลี้ยง คือยางรักดิบสีออกไปทางน้ำตาลเข้มจนเกือบดำสนิทที่ เวลาจะนำมาใช้จำเป็นต้องผ่านการกรองให้หมดกากโดยปราศจากเศษสิ่งต่างๆที่เจือปนเสียก่อน ขั้นแรกกรองโดยตะเเกรงมุ้งลวดเอากากหยาบๆออกเสียก่อน ขั้นต่อไปใช้ผ้ากรองด้วยผ้าไหมที่ใช้ในการทำภาพพิมพ์ ซิลสกรีน(silk screen) โดยขึงมุมผ้าทั้งสี่ด้านส่วนด้านล่างรองด้วยภาชนะสำหรับใส่ยางรัก จากนั้นใช้หลอดไฟกลมขนาด ๑๐๐ วัตถ์ เป็นตัวเเร่งความร้อนให้รักเหลวไหลลงผ่านผ้ากรองและหมั่นคนไม่ให้อุดตัน เมื่อได้รักที่ต้องการเเล้วหากยังไม่นำมาใช้งาน ก็นำแผ่นกระดาษลอกลายปิดที่ผิวหน้าก่อนจะปิดฝาภาชนะบรรจุให้มิดชิด

    รักเช็ดหรือรักเคี่ยว คือ รักน้ำเกลี้ยงใส่ภาชนะทนไฟตั้งไฟเคียวไล่น้ำหรือน้ำมันที่มีอยู่ให้ละเหยไป ช่วยให้มีความเหนียวเพิ่มขึ้น ในการเคี่ยวควรใช้ไฟอ่อนๆเคี่ยวประมาณสัก ๕ นาที หรือจนกว่าน้ำหรือน้ำมันจะหมดไป โดยสังเกตุได้จากฟองอากาศในขณะที่เคี่ยวเรียบนิ่งเเละหมดไป ซึ่งจะมีผลอย่างมากเมื่อเวลาปิดทอง เพราะเมื่อรักเคียวยังมีน้ำปะปนอยู่เมื่อเวลาเช็ดรักจะทำให้น้ำยาหรดานหลุด ดังนั้นจึงต้องคัดเลือกชนิดของรักที่ดีเเละพิถีพิถันในขั้นตอนนี้อย่างที่สุด

ทองคำเปลว (Gold leaf)

ทองคำเปลว (Gold leaf)

    ทองคำเปลวเป็นทองคำแท้ที่ตีแผ่ให้บางที่สุดตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดประมาณด้านล่ะ ๔ ซ.ม.ทองคำเปลวที่ดีสำหรับทำลายรดน้ำต้องเป็น ทองคัด เป็นทองคำเปลวที่ไม่มีรอยต่อในเเผ่นเป็นทองเต็มหน้าไม่มีรูพรุนหรือรอยด่างที่เรียกว่า ทองสอ ที่เกิดจากส่วนผสมของทองที่ไม่ได้มาตรฐาน สีทองเป็นสีเดียวกันตลอดทั้งเเผ่น ลักษณะของทองคำเปลวเเบ่งออกเป็น ทองเขียว มีสีออกเหลืองสุกอมเขียว มีอัตราสัดส่วนทองอยู่ที่ประมาณ ๙๕% เเละทองซัวสีออกส้ม มีอัตราสัดส่วนทองอยู่ที่ ๙๗%

หรดาล (Yellow orpiment)

หรดาล (Yellow orpiment)

    หรดาลเป็นเเร่ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผลึกแท่งเข็มสั้น เป็นเม็ดแผ่นอัดแน่นหรือเป็นผงที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน ใช้ประโยชน์เป็นสารให้สีเหลือง ประกอบด้วยธาตุสารหนูและกํามะถันมีปรากฏในธรรมชาติ ๒ ชนิด ชนิดเเรกเนื้อแน่นเเข็งเรียกว่า หรดานหิน ชนิดที่สองเปราะไม่เเข็งในระหว่างเนื้อเเร่มีผลึกมันเงาแทรกอยู่ เรียกว่า หรดานกลีบทอง ชนิดนี้ใช้มีสรรพคุณสำหรับเป็นยารักษาโรค ทั้งสองชนิดมีขายตามร้านขายยาจีนแผนโบราณ

    หรดานนำมาตำและบดให้ละเอียดเป็นผงโดยใช้ครกหินเฉพาะงานนี้เพียงเท่านั้น กรองคัดเเยกเอาเศษผงที่หยาบออกทิ้ง เลือกเอาเฉพาะที่เป็นผงฝุ่นละเอียดนำเเช่น้ำเเล้วกวนผสมกันให้เข้ากับน้ำ รอให้ตกตะกอนโดยทิ้งระยะไว้ประมาณหนึ่งวัน จากนั้นจึงรินน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำลงไปใหม่ทำเช่นนี้ทุกวันหลายๆครั้ง เป็นระยะเวลาประมาณ ๒-๔ สัปดาห์หรือมากกว่า ทั้งนี้เพื่อลดความเค็มเป็นกรดที่มีอยู่ในเนื้อหรดานให้หมดไป หรดานที่มีความเป็นกรดสูงจะทำลายพื้นผิวที่เตรียมไว้เขียนลายรดน้ำ โดยจะทำให้พื้นผิวเป็นรอยด้านด่างเมื่อเขียนทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง

กาวยางกระถิน

กาวยางกระถิน

    กาวกระถินเป็นกาวที่ได้จากยางของต้นกระถินนอินเดียซึ่งต้องนำเข้าจากประเทศอินเดีย เป็นต้นไม้ที่มีขีนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ยางมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนใส ไปจนถึงเหลืองแก่เกือบจะเป็นสีน้ำตาลไหม้มีคุณสมบัติเป็นกาว
การเตรียมกาวยางกฐินนำเอายางกระถินมาทุบย่อยให้เป็นเม็ดขนาดเล็กๆ จากนั้นนำภาชนะใส่น้ำตั้งบนเตาไฟนำเม็ดกาวที่ทุบใส่ลงไปต้มค่อยๆกวนไปเรื่อยๆโดยใช้ไฟอ่อนๆจนกระทั่งละลาย ทิ้งให้เย็นกรองด้วยผ้าขาวบางเอากากเล็กๆปะปนออกทิ้ง ควรมีความเข้มข้นพอเหมาะไม่เหนียวเกินไป ในอัตราส่วนประมาณกาวกระถิน ๑ ส่วน ต่อน้ำ ๔ ส่วน สามารถเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานภายในภาชนะที่ปิดอย่างมิดชิด

ฝักส้มป่อย

ฝักส้มป่อย

    ส้มป่อยเป็นพืชไม้เลื้อยใบเป็นฝอยคล้ายต้นชะอม ฝักมีรสเปรี้ยวเเละฝาด นำฝักส้มป่อยตากแห้งไปต้ม โดยใส่ฝักส้มป่อยลงไปหลังจากที่น้ำเดือดแล้วเคี่ยวไฟอ่อนๆ ทิ้งไว้จนน้ำออกเป็นสีชาเเก่ๆ ทิ้งให้เย็นกรองใส่ผ้าขาวบางเอากากเล็กๆออกทิ้ง ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ออกรสเปรี้ยวทำหน้าที่หน้าที่ลดความเป็นกรดของหรดาน เเละใช้เป็นน้ำล้างพู่กันขณะเขียน

ดินสอพอง (Marl)

ดินสอพอง (Marl)
 
    เป็นดินที่เนื้อเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ นำมาบดให้ละเอียดเป็นผงผสมน้ําให้มีความข้นพอสมควร ใช้สำหรับขัดพื้นเก็บคราบน้ํามันและสิ่งสกปรกต่างๆบนพื้นที่เตรียมไว้สำหรับเขียน ลูกประคบฝุ่นดินสอพอง นำดินสอพองย่างบนเตาไฟจนสุกจากนั้นจึงนำมาบดให้เป็นผงละเอียดใช้ผ้าขาวบางเนื้อละเอียดปานกลางห่อผงดินสอพอง แล้วรวบชายผ้าผูกทำเป็นลูกประคบใช้ลูบฝุ่นโรยแบบ

น้ำยาหรดาล

    น้ำยาหรดาล คือ ส่วนผสมระหว่างหรดาลที่บดจนเป็นฝุ่นผง น้ำฝักส้มป่อยและกาวยางกระถิน ผสมกันในอัตราส่วนที่พอเหมาะพอดีใช้สำหรับเขียนเส้นและระบายพื้นที่ไม่ต้องการให้ทองติดเป็นตัวกลางกั้นระหว่างพื้นชิ้นงานกับรักเช็ด

    การผสมน้ำยาหรดาล นำฝุ่นผงหรดาลที่บดเตรียมไว้เเล้วใส่ลงในโกร่งบดยา รินน้ำฝักส้มป่อยผสมลงไปพอสมควรอย่ามากเกินไป บดให้เข้ากันให้ละเอียดในระยะเเรกนี้อาจจะยังไม่รวมตัวกันได้ดีนัก ให้เติมเเอลกอฮอล์ลงไปประมาณ ๒-๓ หยด เพื่อให้ฝุ่นหรดาลที่ลอยตัวอยู่ละลายผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำฝักส้มป่อย จากนั้นจึงเติมน้ำกาวยางกระถินลงไปค่อยๆเพิ่มปริมาณน้ำกาวไม่ควรมากจนเกินไป

    การที่จะทราบว่าน้ำยาที่ผสมมีปริมาณกาวมากหรือน้อยเกินไป สังเกตุได้จากเมื่อจุ่มพู่กันลงไปในน้ำยาแล้วยกขึ้นปล่อยให้น้ำยาหยดลงไปช้าๆตกกระทบลงที่ผิวน้ำยาภายในโกร่ง จะเเตกกระจายตัวออกแล้วกลับรวมตัวเข้ากันอย่างรวดเร็ว หรือเมื่อจุ่มพู่กันลากเส้นเขียนลาย สีของน้ำยาจะติดสม่ำเสมอเมื่อเเห้งผิวจะเป็นมันเล็กน้อย ทดสอบโดยการเอาผ้าสะอาดถูน้ำยาจะไม่หลุด จัดว่าเป็นน้ำยาหรดาลที่มีคุณภาพเหมาะที่จะนำมาใช้งาน ถ้าหากน้ำยามีปริมาณน้ำกาวมากเกินไปเวลาจุ่มพู่กันทดลองลากเส้นจะเหนียวข้น เเละเมื่อเเห้งสนิทผิวจะเป็นมันและน้ำยาจะเเตกร่อน ถ้าปริมาณน้ำกาวน้อยเกินไปเวลาจุ่มพู่กันทดลองลากเส้นจะติดไม่สม่ำเสมอ เมื่อแห้งสนิทสีจะซีดและหลุดเป็นผงเวลาเช็ดรักน้ำยาก็จะหลุดออก

อ้างอิง

สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ. การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ของพรรณไม้ให้ยางรักในประเทศไทย. เอกสารทางวิชาการ, (PDF).



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

.

.

.